“การคมนาคมสะดวก ระบบเศรษฐกิจดี ราษฎรมีความรู้ การบริหารการจัดการเด่น สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ สู่การท่องเที่ยวที่ทันสมัย”
การคมนาคมสะดวก การคมนาคมในตำบลแหลมตะลุมพุกใช้ถนนลาดยางสายราชประชานุเคราะห์ โดยเริ่มจากสี่แยกชายทะเลตำบลปากพนังฝั่งตะวันออกมาถึงบริเวณวัดสุเทพธาราม ตำบลแหลมตะลุมพุก ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร และถนนคอนกรีตภายในหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าการคมนาคมของตำบลแหลมตะลุมพุกมีความสะดวก
ระบบเศรษฐกิจดี ประชาชนร้อยละ 85 ของตำบลแหลมตะลุมพุกประกอบอาชีพทำการประมง รองลงมาคือรับจ้าง และค้าขาย สำหรับอาชีพประมงนั้นจะมีรถรับซื้อผลิตภัณฑ์จากทะเลโดยตรง รวมทั้งจะมีรถรับส่งสินค้าต่าง ๆ นำมาขายถึงในตำบลแหลมตะลุมพุก ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนที่จะต้องไปซื้อสินค้าถึงในตัวเมือง นอกจากนี้แล้วองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำปะการังเทียมตามภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สาขาปากพนัง จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช จากสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 14 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร้านโอมอารักษ์ และจากองค์กรภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในทะเลให้คงอยู่ต่อไป ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมีความสมดุล และที่สำคัญทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ราษฎรมีความรู้ องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก ให้บริการอินเตอร์เน็ตตำบลแก่ประชาชน/เยาวชน การประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย และประชาสัมพันธ์ด้วยแผ่นพับ
การบริหารการจัดการเด่น องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก มุ่งเน้นการบริการ เช่นการบริการประชาชนในช่วงพักเที่ยง และวันเสาร์เต็มวัน ทั้งนี้เพื่อความพึงพอใจของประชาชนเป็นสำคัญ
สิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ ตำบลแหลมตะลุมพุก เป็นตำบลที่มีประชากรหนาแน่นอยู่ในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 - 3 จึงทำให้ปริมาณขยะตามครัวเรือนมีปริมาณมาก ประมาณวันละ 2 ตัน ซึ่งปริมาณขยะนอกจากมาจากครัวเรือนแล้ว ยังมาจากนักท่องเที่ยว และจากทะเลอ่าวไทย (ในช่วงมรสุม) องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมตะลุมพุก ได้เล็งเห็นความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการจัดเก็บขยะจากครัวเรือน ร้านค้า และบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และได้นำขยะที่จัดเก็บในแต่ละวันไปทิ้งยังที่ทิ้งขยะของสำนักงานเทศบาลเมืองปากพนัง นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับเยาวชน ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา ได้บำเพ็ญประโยชน์โดยการจัดเก็บขยะบริเวณชายทะเล และได้ร่วมมือกันปลูกป่าเป็นประจำทุกปีด้วย จึงทำให้สิ่งแวดล้อมของตำบลแหลมตะลุมพุกอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และไม่เป็นพิษ
สู่การท่องเที่ยวที่ทันสมัย ตำบลแหลมตะลุมพุก เป็นตำบลที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับมหาวาตภัยแฮเรียต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและสูญหาย ประมาณ 1,030 คน บาดเจ็บสาหัส 422 คน ทำให้ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว ได้มาเที่ยวในตำบลแหลมตะลุมพุกเป็นจำนวนมาก จึงมีการปรับปรุงถนนสายต่าง ๆ มีการก่อสร้างสถานที่จอดรถเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนปัจจุบันสามารถเดินทางไปยังปลายแหลมตะลุมพุกได้โดยสะดวกทั้งทางรถยนต์และเรือ